องค์กร ปชต. ติดใจ กอส. เน้นแก้ปัญหาระยะยาว โดยไม่ดูปัญหารายวัน

มูลนิธิอาสาสมัครฯ 10 เม.ย. เครือข่ายองค์กรเพื่อประชาธิปไตย แนะ กก.สมานฉันท์-รัฐบาลชี้แจงการทำงานร่วมกัน เตรียมติดตามการทำงาน 3 แนวทาง พร้อมฝากการบ้านให้นำปัญหา อุ้มทนายสมชาย-อุ้มฆ่า-บัญชีดำ หารือในที่ประชุม 23 เม.ย.ที่ จ.ปัตตานี เชื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ติดใจกรอบการทำงานที่เน้นระยะยาว ไม่คำนึงปัญหารายวัน เชื่อจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ในระยะยาวได้ยาก วอนนายกรัฐมนตรีแสดงรูปธรรมรับข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาของ กก.สมานฉันท์ในระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม วันนี้ (10 เม.ย.) ว่า เมื่อเวลา 14.00 น. เครือข่ายองค์กรเพื่อประชาธิปไตยร่วมกันแถลงข่าว นำโดยนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แถลงถึงการติดตามการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) หลังจากยื่นหนังสือข้อเรียกร้องและติดตามการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา
นายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมาก การที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯ ถือเป็นการให้ความหวังกับประชาชนอย่างมาก ซึ่งคิดว่าน่าจะทำให้การแก้ปัญหาในภาคใต้ดีขึ้น และเมื่อสังคมคาดหวังสูง ก็ต้องมีการติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ เราต้องการได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับการทำงานของ กอส. กับรัฐบาลว่าจะมีการประสานกันอย่างไร เช่น กรณีการเปิดเผยผลการสอบสวนกรณีกรือเซะและตากใบ ซึ่งหากเกี่ยงกันไปมา จะเกิดปัญหาได้
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะไม่หยุดเพียงแค่ยื่นหนังสือ แต่ยังมีแนวทางการติดตาม 3 ประการ คือ 1.จะทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะ ให้ข้อมูล และสะท้อนความเห็นของประชาชน 2.จะติดตามว่ารัฐบาลจะทำตามแนวทางที่คณะกรรมการฯ เสนอไปหรือไม่ และ 3.สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์
ที่ผ่านมา ผมชื่นชมแนวทางแก้ปัญหาในการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตกรณีตากใบ แต่มีประชาชนแจ้งว่ามีเงื่อนไข คือเมื่อรับเงินไปแล้วจะต้องไม่เรียกร้องใด ๆ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว ถือว่าไม่สนองต่อการสร้างความสมานฉันท์ แต่ในที่สุดทางราชการก็ตัดข้อความนั้นออกไป รวมทั้งต่อไปเราจะติดตามการเสนอแนะความคิดเห็น จะติดตามข้อเสนอ 9 ข้อ ที่เราได้ยื่นให้กับคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะกรรมการฯ ควรต้องเร่งดำเนินการกรณีกรือเซะ เพราะน่าจะเป็นการหาทางออกด้วยความสมานฉันท์ รวมทั้งติดตามมาตรการของ กอ.สสส.จชต. (กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้) ว่าจะขัดต่อแนวทางของคณะกรรมการฯ หรือไม่ นอกจากนี้ ปัญหาฆ่ารายวัน ทางคณะกรรมการฯ ควรจะต้องมีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วด้วย นายสมชาย กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ แสดงความเป็นห่วงถึงเงื่อนไขเฉพาะหน้า คือ การหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ว่า คณะกรรมการฯ ควรจะนำเรื่องดังกล่าว มาหารือกันที่ประชุมในวันที่ 23 เมษายนนี้ ที่คณะกรรมการฯ จะไปประชุมที่ จ.ปัตตานี โดยนำปัญหานี้มาหารือเพื่อเสนอแนวทางต่อรัฐบาล เพราะจะเป็นการนำไปสู่การแก้ปัญหา ส่วนปัญหาอุ้มฆ่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังไม่กระจ่างชัด ทางเราเชื่อมั่นว่าข้อมูลเหล่านี้มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสูญหายของฝ่ายใดก็ตาม น่าจะมีการประมวลข้อมูลเหล่านี้เป็นการเร่งด่วน รวมทั้งกรณีบัญชีดำที่ยังคงสร้างความหวาดกลัวต่อพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางคณะกรรมการฯ น่าจะเข้าไปตรวจสอบด้วย
ส่วนนายสุริยะใส กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจกับกรอบการทำงานของคณะกรรมการฯ ที่จะเน้นถึงการสร้างความสมานฉันท์ระยะยาว โดยไม่คำนึงถึงปัญหารายวัน เพราะถ้าไม่จัดการกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้น บรรยากาศความสมานฉันท์จะแก้ไขได้ยากในระยะยาว เช่น กรณีการอุ้มที่ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องในพื้นที่มากกว่า 100 ราย ถ้ากรณีเหล่านี้ไม่มีแนวทางในการแก้ปัญหา จะไม่มีต้นทุนของความสมานฉันท์เกิดขึ้นในระยะยาว อีกทั้งจะทำให้ประชาชนมองไม่เห็นแนวทางการพึ่งพา หรือไม่กล้าคาดหวังกับคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ เราไม่ต้องการให้ตั้งคณะอนุกรรมการ หรือกรรมการชุดใด ๆ ขึ้นมา เพื่อตามหาตัวนายสมชาย หรือใคร ๆ ทั้งสิ้น แต่น่าจะมีแนวทางออกมา เพราะกรณีเหล่านี้ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าอะไร
นายสุริยะใส ยังกล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้คณะกรรมการฯ สร้างความสับสน โดยเฉพาะกรณีผลสอบกรือเซะและตากใบที่ยังไม่มีความชัดเจนระหว่างคณะกรรมการฯ กับรัฐบาล คือโยนความรับผิดชอบกันไปมา และอยากให้นายกรัฐมนตรีแสดงรูปธรรมในการที่จะยินดีรับแนวทางข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ ในระยะยาวด้วย. -
10 เมษายน 2548

ที่มา:สำนักข่าวไทย
|
|